นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานประจำปี สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) (OIE Forum) ครั้งที่ 16 "Industrial Reform : ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่" โดยระบุว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทย ยังคงเผชิญกับบททดสอบและความท้าทายใหม่ ๆ ของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หรือการเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศมหาอำนาจ ที่อาจจะสร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงระหว่างประเทศ การเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่ก่อให้เกิดการแข่งขัน และเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย
อย่างไรก็ดี สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดย สศอ. คาดการณ์ว่าในปี 68 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มขยายตัว 1.5-2.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักที่เติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการ การลงทุนภาครัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งทุน และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าจะช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจภาพรวมให้ดีขึ้น
"พร้อมยกระดับ และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย ผ่านการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทย ก้าวข้ามข้อจำกัด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างการเติบโตให้ภาคอุตสาหกรรมไทยในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" นายเอกนัฏ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ "การปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ผ่าน 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง (สู้ เซฟ สร้าง) ได้แก่
ปฏิรูปที่ 1 "สู้" กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายชีวิตประชาชน บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ คืนน้ำสะอาด แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สร้างอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทย
ปฏิรูปที่ 2 "เซฟ" สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจ SMEs สร้างโอกาส สร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย
ปฏิรูปที่ 3 "สร้าง" อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก
โดยขับเคลื่อนผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่
ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัว พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น และมุ่งสู่ "อุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่" ให้เติบโตบนพื้นฐานของความสมดุลและยั่งยืน
โดย สศอ. เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการบูรณาการกับทุกภาคส่วน พร้อมนำแนวคิด "สู้ เซฟ สร้าง" และนโยบาย MIND ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมใน 4 มิติ ได้แก่ 1. การสร้างความสำเร็จทางธุรกิจ 2. การส่งเสริมความอยู่ดีกับสังคม 3. ความลงตัวกับกติกาสากล และ 4. การกระจายรายได้สู่ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้ยกระดับการทำงานสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เปิดตัวแพลตฟอร์ม i-Industry ระบบบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกลางของกระทรวง ที่ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก เช่น การขอใบอนุญาตแบบดิจิทัล (Digital-License) การชำระค่าธรรมเนียม (Digital-Payment) และการรายงานข้อมูลผ่านระบบ iSingleForm ซึ่งจะช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและการออกแบบนโยบาย รวมถึงสร้างกลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานภายใต้กฎหมายของกระทรวงอย่างเข้มข้น ช่วยให้ผู้ประกอบการมีการประกอบกิจการที่ดี สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและสังคมโดยรอบ